Big Data หรือ อภิมหาข้อมูล คืออะไร ?

Big Data คืออะไรรศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(pasu@acc.chula.ac.th)

สัปดาห์นี้เรามาดูแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านการจัดการที่กำลังมาแรงในต่างประเทศกันหน่อยนะครับ เผื่อองค์กรไหนในเมืองไทยสนใจนำไปปรับใช้ แนวคิดดังกล่าวคือเรื่อง Big Dataครับ เป็นแนวคิดที่มาแรงถึงขนาดที่ Harvard Business Review นำเรื่องนี้ขึ้นหน้าปกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Big Data คืออะไร ?

คำว่า Big Data นั้นถ้าแปลเป็นไทยคงจะเป็น “อภิมหาข้อมูล หรือ ข้อมูลที่มากมายมหาศาล” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ทำให้องค์กรมีการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และองค์กรที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้ก็ย่อมรู้จักที่จะใช้หรืออภิมหาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งมีงานวิจัยชี้ออกมาแล้วเหมือนกันครับว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลในการตัดสินใจ หรือ เป็นลักษณะ Data-Driven นั้นจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าองค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ข้อมูล

เรามาดูกันก่อนนะครับว่าเจ้าอภิมหาข้อมูลขององค์กรต่างๆ นั้นมาจากไหนได้บ้าง เริ่มจากบรรดาตัวชี้วัดหรือ KPI ต่างๆ ที่องค์กรเกือบทุกแห่งต่างขยันเก็บกันในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้องค์กรได้มีข้อมูลในด้านต่างๆ อย่างมากมาย นอกจากนี้ข้อมูลที่องค์กรทุกแห่งเก็บเป็นปกติอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นตัวเลขทางด้านการเงิน ตัวเลขทางด้านการดำเนินงาน ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน หรือ ข้อมูลในระบบ ERP ระบบฐานข้อมูล ระบบ Warehouse ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งสำคัญของเจ้า Big Data ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือปริมาณของข้อมูลเหล่านี้กลับทวีปริมาณมากขึ้นทุกขณะ ในปี 2012 ข้อมูลจำนวน 2.5 exabytes ถูกสร้างขึ้นมาในแต่ละวัน (หนึ่ง exabyte เทียบเท่ากับ 1 พันล้าน Gigabytes)

Big Data คืออะไร

นอกจากนี้แหล่งของอภิมหาข้อมูลในปัจจุบันก็มาจากแหล่งที่เราคาดไม่ถึงกันมากด้วย ไม่ว่าจะมาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งโทรศัพท์ Smartphone ส่วนใหญ่ต่างมีระบบ Location-Based Services ทั้งสิ้น ทำให้ในช่วงวัน Black Friday หรือวันซื้อของก่อนคริสต์มาสของอเมริกานั้น ได้มีนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ระบบ LBS ดังกล่าวในการติดตามว่ามีคนมารออยู่ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้ากี่คน และพอจะประมาณยอดขายได้แม้กระทั่งก่อนห้างเปิด และแหล่งสำคัญสุดท้ายสำหรับเจ้าอภิมหาข้อมูลคือบรรดา Social Networks ทั้งหลายครับ เพราะท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่าการโพสต์หรือส่งอะไรเข้าไปใน Social Networks ไม่ว่าจะเป็น Facebook  Twitter(X)  Instagram  LinkedIn ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างหรือเพิ่มปริมาณข้อมูลทั้งสิ้น เพียงแค่การ check-in ว่าอยู่ที่แห่งไหน ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ถ้าองค์กรรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะช่วยองค์กรได้อย่างมาก

สรุปคือตอนนี้พวกเราทุกคนถือเป็นผู้สร้างข้อมูลหรือเรียกว่าเป็น Data Generator การที่เราทำกิจกรรมอะไรบางอย่างก็มีโอกาสที่จะสร้างข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลกนี้ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยและองค์กรธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้เลย เพียงแต่ถ้าดูดีๆ จะพบว่าเบื้องหลังข้อมูลเหล่านี้ อาจจะมีบางสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แบบที่เราไม่รู้ตัว

ประเด็นสำคัญที่องค์กรต้องคำนึงคือจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม วิธีการในการตัดสินใจอย่างไรให้สามารถตอบสนองต่อปรากฏการณ์ Big Data ที่กำลังเกิดขึ้น เทคโนโลยีนั้นอาจจะมีความสำคัญต่อ Big Data ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการบันทึก เก็บ วิเคราะห์ ประมวลข้อมูลต่างๆ แต่ผมว่าความสำคัญนั้นอยู่ที่ตัวผู้บริหารเองครับว่าเห็นความสำคัญของอภิมหาข้อมูลเหล่านี้หรือไม่

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะกระทบต่อผู้บริหารคือวิธีการตัดสินใจครับ ในอดีตในยุคที่เรายังไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ ส่วนใหญ่เราก็อาศัยสัญชาตญาณหรือที่เรียกว่า Intuition เข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้บริหารระดับสูงหรือผู้อาวุโสที่อยู่มานาน ท่านเหล่านี้ก็จะมีประสบการณ์ที่มากและทำให้สัญชาตญาณของท่านก็แก่กล้าไปด้วย แต่เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้น และถ้าผู้บริหารรู้จักที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจมากขึ้น เราอาจจะพบว่าประสบการณ์หรือสัญชาตญาณอาจจะสู้การมีข้อมูลที่พร้อมเพรียงและรวดเร็วในการตัดสินใจไม่ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีแล้วครับ แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและรูปแบบในการตัดสินใจมากกว่าครับ

Big Data ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรานะครับ เราพบเจอเรื่องของ Big Data ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น จะพาครอบครัวไปหาอาหารอร่อยกิน เราก็ไม่ได้อาศัยสัญชาตญาณที่ขับรถผ่านแล้วบอกว่า “ร้านนี้น่าจะอร่อย” อีกต่อไป แต่เราต้องหาข้อมูล ดูรีวิว ดูรูป ฯลฯ เกี่ยวกับร้านที่ต้องการจะไปมากขึ้น

ขอบคุณที่มา : http://library.acc.chula.ac.th

ความเห็นของข้าพเจ้า : ในอนาคต Big Data เหล่านี้อาจเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีให้กับ AI นำไปประมวลผลใช้งานซึ่ง Big Data และ AI คงต้องเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้