Review : รีวิวหนังสือ Rise of the Robots – โลกในยุคที่แรงงานไม่มีค่า

RISE OF THE ROBOTS: โลกในยุคที่แรงงานไม่มีค่า

ความ ก้าวหน้าของเทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้เราไม่ต้องลำบากในการเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลๆ หรือใช้แรงงานแบกหามของหนักๆ กันอีกต่อไป กำลังผลิตต่อแรงงานของระบบเศรษฐกิจของเราดีขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มนุษย์ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรหรือทำงานในบางส่วนที่ต้องการ ฝีมือหรือความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์

แต่คำถามคือจะมีวันหนึ่งที่เครื่องจักรค่อยๆ เข้ามาทดแทนแรงงานส่วนใหญ่ในทุกฟังก์ชั่นงาน จนไม่มีงานให้คนทั่วไปได้ทำอีกเลยในอนาคตหรือไม่ หนังสือ Rise of The Robots โดย Martin Ford ทำนายว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ งานแทบทุกประเภทจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ในที่สุดโดยที่คน ทั่วไปจะหางานทำไม่ได้อีกต่อไป

หนังสือเริ่มจากการเล่าถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ว่าคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการเรียนรู้และทำงานได้กว้างกว่าการเป็น เครื่องจักรผลิตสินค้าเช่นทุกวันนี้

เทคโนโลยีที่หนังสือยกขึ้นมามีตั้งแต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้า ขึ้นอย่างมาก อย่างเช่น IBM Watson ที่สามารถประมวลภาษาธรรมชาติ วิเคราะห์หาความหมายที่แท้จริง และตอบโต้กลับออกมาได้อย่างแม่นยำ เทนโนโลยีเช่นนี้ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าแทนทดแทนหรือลดภาระแรงงานคนในงานหลาย ประเภท เช่นการสืบค้นข้อมูลทางกฎหมาย, แนะนำการลงทุน, ไปจนถึงการวิเคราะห์โรค

ทางด้านหุ่นยนต์โดยตรงก็กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เซ็นเซอร์ความแม่นยำสูงที่เคยราคาแพงกลายเป็นของใช้ตามบ้านเช่นกล้อง Kinect สายการผลิตขนาดเล็กเช่นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอาจจะใช้สายการผลิตอัตโนมัติทั้ง หมดได้ในเร็วๆ นี้โดยที่ค่าติดตั้งและบำรุงรักษาจะถูกกว่าการจ้างแรงงานคน ไปจนถึงถึงเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้คนเราสามารถเข้าเรียนในห้องเรียนออ นไลน์ขนาดใหญ่ได้ ทำให้อาชีพอย่างครูก็ตกอยู่ในความเสี่ยง

พัฒนาการเช่นนี้อาจจะดูน่าตื่นเต้น แต่หนังสือก็ระบุถึงผลกระทบกับสังคมในระยะยาวว่ามันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำใน สังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ งานระดับล่างและระดับกลางจะหายากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่งานที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็นงานระดับสูงก็อาจจะถูกทดแทนด้วย คอมพิวเตอร์, หุ่นยนต์, หรือความต้องการลดลงเพราะการเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต
ทำได้ง่ายขึ้น เช่นกรณีของครูที่สามารถสอนห้องเรียนขนาดใหญ่นับพันนับหมื่นคน โดยการตรวจการบ้านและให้คำแนะนำเบื้องต้นสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้

หนังสือทำนายว่าความเหลื่อมล้ำเช่นนี้จะต่างไปจากการเปลี่ยนจากสังคม เกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม หรือจากอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่ภาคบริการ ที่แรงงานเคลื่อนที่จากอุตสาหกรรมหนึ่งไปสู่อีกอุตสาหกรรมหนึ่งเพราะงานใน อนาคตจะมีน้อยลงจนไม่มีช่องทางให้แรงงานเคลื่อนไปจุดอื่นได้อีก คนจนจะจนลงเรื่อยๆ ขณะที่คนรวยจะรวยขึ้นเพราะกระบวนการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลงและขยายกำลังผลิต ได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด

คำทำนายเช่นนี้สอดคล้องกับหนังสือ Capital in 21st Century ของ Thomas Piketty ที่ระบุว่าถึงจุดหนึ่งแล้วทุนจะให้ผลตอบแทนเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มทุนมีแนวโน้มจะร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ จากผลตอบแทนของทุนเดิม และความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้นจนหยุดไม่ได้

ตอนท้ายของหนังสือระบุถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงความเหลื่อมล้ำเช่นนั้นด้วย การวางแนวทางรายได้ขั้นต่ำ และเก็บภาษีจากทุนที่มีแนวโน้มจะร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนจนจะมีโอกาสก้าวขึ้นมาสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์กว่าเดิมได้ไปเรื่อยๆ

คำทำนายของหนังสือนี้ดูไกลกว่าที่เราจะมองเห็นได้ ในยุคที่การผลิตจำนวนมากทำให้ของใช้พื้นฐานมีราคาถูกลง แต่คนจำนวนหนึ่งกลับแสวงหาของทำมือที่ใช้แรงงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพนัก เพื่อหาความพึงพอใจว่าเป็นของทำมือ อนาคตอันน่ากลัวที่หนังสือทำนายแม้จะเป็นจริงก็อาจจะไกลเกินชั่วอายุเราไป แล้ว แต่การอ่านข้อมูลที่หนังสือรวบรวมมาและการทำนายจุดย่อยๆ เช่นอุตสาหกรรมใดเสี่ยงต่อการใช้เครื่องจักรมาแทนที่คนก็ยังคงทำให้หนังสือ เล่มนี้น่าอ่านอยู่ แต่ภาพใหญ่ของหนังสือแล้วแม้จะดูน่าตื่นเต้นแต่ก็น่าสงสัยว่าเราจะไปถึงจุด นั้นกันได้จริงๆ หรือ

ที่มา : https://www.meconomics.net/content/1125